วันอาภากร ตรงกับวันที่ 19 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พระประวัติ
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 3 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง จุลศักราช 1242 เวลา 15.57 น. มีพระกนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอรองค์อรรคยุพา (สิ้นพระชนม์ขณะทรงพระเยาว์) และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยูรพันธุ์ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส
ครั้งเสด็จในกรมฯ ยังทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการศึกษาชั้นแรก ในพระบรมมหาราชวัง มีพระยาอิศรพันธ์โสภร (พูน อิศรางกูร) เป็นพระอาจารย์ และทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับ Mr.Morant ชาวอังกฤษ และได้ทรงเข้าเป็นนักเรียนในโรงเรียนหลวง ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ อยู่จนพระชนมายุราว 12 พรรษา (พ.ศ. 2435) จึงทรงเข้าพระราชพิธีโสกันต์
เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา (พ.ศ. 2436) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ จนถึงพระชนมายุได้ 20 พรรษา (พ.ศ. 2443) ก็ทรงสำเร็จการศึกษา วิชาการทหารเรือ จากประเทศอังกฤษ และได้ทรงเข้ารับราชการ ในกรมทหารเรือ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2443 โดยได้รับพระราชทานยศเป็น นายเรือโท (เทียบเท่า นาวาตรี ในปัจจุบัน)
ทันทีที่พระองค์เข้ารับราชการ ทรงริเริ่มกำหนด แบบสัญญาณธงสองมือและโคมไฟ ตลอดจนเริ่มฝึกพล “พลอาณัติสัญญา” (ทัศนสัญญาณ) ขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยความที่พระองค์ทรงมีความรู้จริง และมีความกระตือรือร้นในการทำงาน ทำให้พลเรือโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปคม ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ทรงพอพระทัยในการปฏิบัติงานของพระองค์เป็นอย่างมาก ในปีต่อมาพระชนมายุ 21 พรรษา (พ.ศ. 2444) พระองค์จึงได้รับพระราชทานยศ เป็นนายเรือเอก (เทียบเท่า นาวาเอกในปัจจุบัน) และยังได้รับพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เป็น รองผู้บัญชาการ กรมทหารเรืออีกด้วย
ขณะพระชนมายุ 22 พรรษา (พ.ศ. 2445) พระองค์ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตจัดตั้งหน่วยฝึกขึ้นที่บางพระ เพื่อเรียกพลทหารจากจังหวัดชายทะเลในภาคตะวันออกมารับการฝึกการจัดระเบียบการบริหารราชการกรมทหารเรือขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับ พระราชบัญญัติศักดินาทหารเรือ ร.ศ. ๑๑๒ เรียกว่า “ข้อบังคับการปกครอง” แบ่งออกเป็น ๓ ตอน คือ ตอนที่ ๑ ว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการ ตอนที่ ๒ ว่าด้วยการเร่งคนรับคนเป็นทหาร ตอนที่ ๓ ว่าด้วยยศทหารเรือ โครงสร้างกำลังทางเรือ
เมื่อพระชนมายุ 24 พรรษา (พ.ศ. 2447) ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศจากนาวาเอก เป็นพลเรือตรี และคงทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ครั้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน ปีเดียวกันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศ เป็น กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์

กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เมื่อทรงพระยศพลเรือตรี
พระชนมายุ 25 พรรษา (พ.ศ. 2448) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ทรงทำการในตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ แทนนาวาเอก หม่อมไพชยนต์เทพ (ม.ร.ว.พิณ สนิทวงศ์) ที่ได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ เมื่อพระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือแล้ว พระองค์ทรงจัดทำโครงการป้องกันประเทศทางด้านทะเลขึ้น อันประกอบด้วยความต้องการกำลังรบทางเรือ และแนวความคิดในการใช้กำลังทางเรือ และให้ชื่อว่า “ระเบียบจัดการป้องกันฝ่ายทะเลโดยย่อ” มีความยาวประมาณ 5-6 หน้า ซึ่งถือว่าเป็นแผนการทัพฉบับแรก นับตั้งแต่ก่อตั้งกรมทหารเรือขึ้นมา
พระชนมายุ 26 พรรษา (พ.ศ. 2449) พระองค์ได้ทรงแก้ไขปรับปรุงระเบียบการในโรงเรียนนายเรือ โดยทรงจัดระบบการศึกษาใหม่ ทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายวิชาการให้รัดกุม ทัดเทียมอารยะประเทศ เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนี้ เป็นนายทหารเรือที่มีความรู้ความสามารถเสมอด้วยกับนายทหารเรือต่างประเทศ และสามารถทำการแทนในตำแหน่งชาวต่างประเทศที่รับราชการอยู่ในกองทัพเรือในขณะนั้นอีกด้วย ทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือ และทรงริเริ่มการใช้ระบบปกครองบังคับบัญชาตามระเบียบการปกครองในเรือรบ คือ การแบ่งให้นักเรียนชั้นสูงบังคับบัญชาชั้นรองลงมา
นอกจากนี้ ทรงจัดเพิ่มวิชาสำคัญสำหรับชาวเรือขึ้น เพื่อให้สำเร็จการศึกษาสามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้ คือ วิชาดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ อุทกศาสตร์ การเดินเรือ เรขาคณิต พีชคณิต ฯลฯ เพื่อให้นักเรียนนายเรือมีความรู้ความสามารถในการเดินเรือในทะเลลึกได้
พร้อมกับทรงมีดำริให้จัดตั้งโรงเรียนนายช่างกลขึ้น เพื่อผลิตนายทหารฝ่ายช่างกลสำหรับปฏิบัติราชการในเรือและโรงงานบนบก สำหรับทดแทนชาวต่างชาติที่ได้จ้างไว้ รวมทั้งทรงสอนและกำกับดูแลการปกครองนักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายช่างกลอย่างเข้มงวด อีกทั้งยังทรงจัดทำข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาสำหรับนายทหารสัญญาบัตร ในกรมทหารเรือ ซึ่งต่อมาได้รับการปรับให้เป็นหลักสูตรต่างๆ ในโรงเรียนนายเรือ และสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง ตามลำดับ
และในปีเดียวกันนี้เอง พระองค์ทรงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญที่ทำให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังเดิมฝั่งธนบุรี ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ และได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนนายเรือด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนนายเรือ ความว่า “วันที่ ๒๐ พฤษจิกายน ร.ศ. ๑๒๕ เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เหนการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเปนที่มั่นสืบไป ในภายน่า” (ตัวสะกดในสมัยนั้น) ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่งคงนับแต่นั้น และกองทัพเรือได้ยึดถือเอาวันดังกล่าวของทุกปีเป็นวัน “กองทัพเรือ” ต่อมาเมื่อโรงเรียน นายเรือได้ย้ายไปอยู่ที่ปากน้ำ กองทัพเรือก็ได้ใช้พระราชวังเดิมเป็นที่ตั้งของหน่วยราชการต่างๆ ในส่วนบัญชาการกองทัพเรือ จวบจนกระทั่งทุกวันนี้

ลายพระราชหัตถเลขาของ ร.๕ เมื่อทรงเปิดโรงเรียนนายเรือ
เมื่อพระชนมายุ 27 พรรษา (พ.ศ. 2450) พระองค์ได้ทรงนำคณะนักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายช่างกลซึ่งเป็นคนไทยทั้งหมด ประมาณ ๑๐๐ คนไป “อวดธง” ที่สิงคโปร์ ปัตตาเวีย ชวา และเกาะบิลลิทัน โดย เรือหลวงมกุฎราชกุมาร ในการเดินทางไปฝึกภาคปฏิบัติยังต่างประเทศในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก และพระองค์ทรงเป็นผู้บังคับเรือเองอีกด้วย
ในการออกฝึกและอวดธงยังต่างประเทศครั้งแรกนี้ ทรงบัญชาการและฝึกนักเรียนนายเรือด้วยพระองค์เอง ให้นักเรียนฝึกหัดปฏิบัติการในเรือทุกอย่าง เพื่อให้มีความอดทนต่อการใช้ชีวิตด้วยความลำบาก เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและเพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ของตนจริงๆ มีความกล้าหาญรักชาติ ให้รู้จักชีวิตของการเป็นทหารเรือโดยแท้จริง ซึ่งจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติการต่างๆ ในเรือ รู้จักหน้าที่ตั้งแต่พลทหารจนถึงนายทหาร
นักเรียนนายเรือได้ฝึกอย่างจริงจัง เผชิญทั้งภัยธรรมชาติ ทั้งการฝึกของพระองค์เองอย่างใกล้ชิดโดยตลอด เป็นต้นว่า ช่วยลากเชือกวิ่งในเวลาชักเรือบต และขนถ่ายของจากเรือใหญ่ แม้แต่วิธีปฏิบัติในเรือ เกี่ยวกับการอาบน้ำหรืออาหาร ก็ทรงปฏิบัติเช่นเดียวกับทหารอื่นๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทหารทั้งหลาย ย่อมเห็นในพระอุตสาหะ และความห่วงใยของพระองค์ ที่มีต่อบรรดาทหารทั้งหลาย ทหารทั้งนั้นจึงได้รักและเคารพในพระองค์ท่าน อย่างยิ่งประดุจว่าพระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งทหารเรือทั้งหลาย
การออกฝึกครั้งนั้น นอกจากจะทำให้นักเรียนนายเรือ ได้รู้จักปฏิบัติการจริงๆ ทางทะเลแล้ว ยังทรงนำสิ่งใหม่มาสู่วงการทหารเรืออีก คือ แต่เดิมเรือรบของไทยทาสีขาว พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนสีเรือมกุฎราชกุมารให้เป็นสีหมอก ตามแบบอย่างเรือรบอังกฤษ เพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับลักษณะของสีน้ำทะเลและภูมิประเทศ ซึ่งกองทัพเรือได้นำสีดังกล่าวมาใช้เป็นสีเรือรบทุกลำของกองทัพเรือตราบจนปัจจุบัน
พระชนมายุ 30 พรรษา (พ.ศ. 2453) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเห็นความสำคัญของกิจการทหารเรือ จึงได้ทรงยกฐานะกรมทหารเรือเป็นกระทรวงทหารเรือ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ
พระชนมายุ 31 พรรษา (พ.ศ. 2454) ทรงออกจากประจำการชั่วระยะเวลาหนึ่ง ได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณอย่างจริงจังจนชำนิชำนาญ และรับรักษาโรคให้ประชาชนพลเมืองทั่วไปโดยไม่คิดมูลค่า ทรงเห็นว่าการช่วยชีวิตคนเป็นบุญกุศลแก่พระองค์ จึงทรงตั้งหน้าเล่าเรียนกับพระยาพิษณุฯ หัวหน้าหมอหลวงแห่งพระราชสำนัก ซึ่งหัวหน้าฝ่ายยาไทยผู้นี้ ก็ได้พยายามถ่ายเทความรู้ให้พระองค์ได้พยายามค้นคว้า และปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา
ถึงแม้ว่าจะทรงชำนิชำนาญในกิจการแพทย์ฝ่ายแผนโบราณแล้วก็ตาม แต่จะไม่ทรงยินยอมรักษาใครเป็นอันขาด จนกว่าจะได้รับการทดลองแม่นยำแล้วว่าเป็นยาที่รักษาโรคชนิดพื้นๆ ให้หายขาดได้อย่างแน่นอน ให้ทรงทดลองให้สัตว์เล็กๆ กินก่อน เมื่อสัตว์เล็กกินหายก็ทดลองสัตว์โต เมื่อสัตว์โตหายจึงทดลองกับคน และประกาศอย่างเปิดเผยว่า จะทรงสามารถรักษาโรคนั้นโรคนี้ให้หายขาดได้ จนเป็นที่เลื่องลือว่า มีหมออภินิหารรักษาความป่วยไข้ได้เจ็บ ได้อย่างหายเป็นปลิดทิ้ง

หมอพรในห้องทดลองส่วนพระองค์
เมื่อผู้คนพากันรู้ว่าพระองค์รักษาโรคได้ฉมังนัก จึงทำให้ร่ำลือและแตกตื่นกันทั้งบ้านทั้งเมือง แต่ไม่ทรงให้ใครเรียกพระองค์ว่าเสด็จในกรมฯ หรือยกย่องเป็นเจ้านาย แต่ทรงเรียกพระองค์เองว่า “หมอพร” เมื่อมีประชาชนมาหาพระองค์ให้รักษา ก็ทรงต้อนรับด้วยไมตรีจิต และรักษาให้เป็นการฟรี ไม่คิดค่ารักษาแต่ประการใด นอกจากจะเชิญไปรักษาตามบ้าน ซึ่งเจ้าของไข้จะต้องหารถราให้พระองค์เสด็จไปและนำเสด็จกลับ โดยมากเป็นรถม้าเท่านั้น
เมื่อกิตติศัพท์ร่ำลือกันว่า หมอพรรักษาโรคได้ฉมังนัก และไม่คิดมูลค่าเป็นเงินทองด้วย ประชาชนก็พาเลื่อมใสทั้งกรุงเทพฯ และระบือลือลั่นไปทั้งกรุง เป็นเหตุให้ความนิยมพระองค์ได้กว้างขวาง และกิตติศัพท์นี้ก็ไปถึงพระกรรณ ในหลวง ร.๖ ซึ่งทำให้ทรงพิศวงไม่ใช่น้อย เหมือนกับว่าอนุชาของพระองค์เป็นผู้ที่แปลกประหลาดอย่างยิ่งทีเดียว ทั้งๆ ที่ยังหนุ่มแน่นทหารก็รักใคร่และเรียกเป็น “เจ้าพ่อ” เดี๋ยวนี้ประชาชนทั้งเมือง เลื่องลือกันว่าเป็นผู้วิเศษกันอีก ที่สำคัญคือไม่คิดเงินคิดทองผู้ไปรักษา จึงทำให้สภาวะของวังพระองค์ท่าน กลายเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ ที่ต้อนรับผู้คนอย่างแน่นขนัดขึ้นมา ทุกวันจะมีคนไปที่วังแน่นขนัด และทรงต้อนรับด้วยดีทุกคน เมื่อไปถึงก็พากันกราบกรานที่พระบาท ขอให้ “หมอพร” ช่วยชุบชีวิต คนเจ็บคนป่วย ก็ทรงเต็มพระทัยรักษาให้ จนหายโดยทั่วกัน
พระชนมายุ 35 พรรษา (พ.ศ. 2458) เมื่อได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากตำราไทย ทรงเขียนตำราสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง เป็นสมุดข่อยปิดทองที่สวยงามมาก มีภาพพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิ เขียนด้วยหมึกสี ด้านซ้ายและด้านขวา เป็นภาพฤาษี ๒ องค์ นั่งพนมมือ ถัดมาเป็นรูป พระอาทิตย์ทรงราชรถ และมีอักษรเขียน เป็นภาษาบาลีว่า “กยิราเจ กยิราเถนํ” (แปลว่า จะทำสิ่งไร ควรทำจริง) ขอบสมุดเขียนเป็นลายไทยสีสวยงาม หน้าต้นของสมุดตำรายานี้มีข้อความว่า “พระคัมภีร์อติสาระวรรค โบราณกรรม และปัจจุบันกรรม จบบริบูรณ์ ของกรมหมื่นชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ทรงค้นคว้า ตรวจหาตาม คัมภีร์เก่า เกือบจะสูญสิ้นอยู่แล้ว จนสำเร็จในปี พ.ศ. 2458”

พระคัมภีร์อติสาระวรรค โบราณกรรม และปัจจุบันกรรม
พระชนมายุ 37 พรรษา (พ.ศ. 2460) ทรงกลับเข้ารับราชการทหารเรืออีกครั้ง ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศจากพลเรือตรี เป็นพลเรือโท และทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ
พระชนมายุ 40 พรรษา (พ.ศ. 2463) ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศจากพลเรือโท เป็นพลเรือเอก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศ เป็น กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พระชนมายุ 41 พรรษา (พ.ศ. 2464) ทรงมีดำริในการจัดตั้งกำลังทางอากาศนาวี (Naval Air Arm) ทรงเสนอความเห็นต่อที่ประชุมสภาบัญชาการกระทรวงทหารเรือ ว่า “สมควรเริ่มตั้งกองบินทะเลขึ้น ในปี พ.ศ. 2465 โดยใช้สัตหีบเปนถาน”(ตัวสะกดในสมัยนั้น) ซึ่งสภาบัญชาการฯ มีมติอนุมัติข้อเสนอเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2464 ดังนั้น กองการบินทหารเรือ จึงได้ถือเอาวันที่ 7 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสถาปนาหน่วย และชาวบินนาวีได้ยึดถือว่า พระองค์ทรงเป็นองค์บิดาแห่งการบินนาวีด้วย
พระชนมายุ 42 พรรษา (พ.ศ. 2465) ด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกล ทั้งในด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธี พระองค์ทรงมีลายพระหัตถ์ขอพระราชทานที่ดินที่สัตหีบ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพเรือ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานที่ดินที่สัตหีบเพื่อจัดตั้งเป็นฐานทัพเรือ เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2465 และใช้เป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือและหน่วยกำลังรบต่างๆ ของกองทัพเรือในปัจจุบัน
พระชนมายุ 43 พรรษา (พ.ศ. 2466) ทรงได้รับพระกรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของทหารเรือในขณะนั้น เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ทรงปฎิบัติราชการได้ไม่นานก็ประชวร และสิ้นพระชนม์ ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 สิริรวมพระชนมายุเพียง 44 พรรษา
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อราชนาวีไทยและประเทศชาติเป็นอเนกประการ ในฐานะที่ทรงเป็นผู้วางรากฐานและพัฒนากิจการกองทัพเรือไทย จัดตั้งฐานทัพเรือ และโรงเรียนนายเรือ ประกอบกับจริยาวัตรที่ทรงแสดงออกจากน้ำพระทัยของพระองค์ต่อทหารเรือทั้งหลายอย่างบิดากับบุตร พระองค์จึงทรงได้รับการเทิดทูนและความเคารพรักจากบรรดาทหารเรือ กองทัพเรือไทยได้กำหนดให้วันที่ 19 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันอาภากร” พร้อมกับขนานพระนามพระองค์ท่านเป็น “พระบิดาของกองทัพเรือไทย” เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 เป็นการน้อมรำลึกพระกรุณาธิคุณของ พระองค์ท่านที่ได้ทรงพัฒนากิจการทหารเรือให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง มีความเจริญก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์ มาตราบเท่าทุกวันนี้

ประกาศกองทัพเรือ เรื่อง ขนานพระนาม พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
อนึ่ง นอกจากวันอาภากร ซึ่งตรงกับวันที่ 19 พฤษภาคมของทุกปีแล้ว ยังมี “วันอาภากรรำลึก” ตรงกับวันที่ 19 ธันวาคมของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันประสูติของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อีกวันหนึ่งด้วย
--------------------
ที่มา
- กองทัพเรือ. 2542. คำประกาศพระเกียรติคุณ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ในโอกาสวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ “วันอาภากร” 19 พฤษภาคม 2542. เข้าถึงจาก: www.navy.mi.th/royal/Abhakara/t11.htm [9 พฤษภาคม 2556].
- กองทัพเรือ. 2553. วันอาภากร. เข้าถึงจาก: th.wikipedia.org/wiki/วันอาภากร [9 พฤษภาคม 2556].
- กองทัพเรือ. ม.ป.ป. ประกาศกองทัพเรือ ให้วันที่ 19 พฤษภาคม เป็น “วันอาภากร”. เข้าถึงจาก: www.navy.mi.th/royal/Abhakara/navys_annouce.htm [9 พฤษภาคม 2556].
- กองทัพเรือ. ม.ป.ป. พระประวัติ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. เข้าถึงจาก: www.navy.mi.th/royal/Abhakara/abhakaras_resume.htm [12 พฤษภาคม 2556].
- นักเรียนนายเรือ รุ่นที่ 86, คณะ. 2553. 19 พฤษภา วันอาภากร. เข้าถึงจาก: www.navy86.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=406861&Ntype=3 [9 พฤษภาคม 2556].
- พิริยะ ตระกูลสว่าง. 2548. พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. เข้าถึงจาก: www.seal2thai.org/etc/chumporn/ [9 พฤษภาคม 2556].