วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี รัฐบาลได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันสำคัญ
ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-
ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
"เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่
ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก ...”
กิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐฯ และเอกชน จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ "ภาษาประจำชาติ" ของคนไทยทุกคน และ
ร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ เช่น การจัดนิทรรศการ การอภิปรายทางวิชาการ
การประกวดแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน นอกจากนี้ยังมีการสรรหาและคัดเลือกผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นเพื่อเป็นแบบอย่างแก่เยาวชนและสังคม
กำเนิดภาษาไทย
"พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบาลเมือง กูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง
พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็กเมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก พ่อกูไปรบ
ขุนสามชน หัวซ้ายขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเคลื่อนเข้าไพร่ฟ้าหน้าใสพ่อกูหนีญญ่ายพ่ายจะแจ กูบ่หนี กูขี่ช้างเนกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อตั้งด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู พระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน..."
ข้อความข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของข้อความที่ปรากฏบนศิลาจารึก หลักที่ ๑ ด้านที่ ๑ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สลักบนแท่งหินชนวน ศิลาจารึกนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของภาษาไทย ดังความตอนหนึ่งที่ปรากฏบนศิลาจารึกด้านที่ ๔ ของศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ว่า
"เมื่อก่อนลายสือไทนี้บ่มี ๑๒๐๕ สกปีมแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจแล่ใศ่ลายสือไทนี้ลายสือไทนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใศ่ไว้... "
นับได้ว่าเป็นศิลาจารึกหลักแรกที่ใช้ตัวอักษรไทยและภาษาไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการทางภาษาเรื่อยมาจนเป็นภาษาไทยในยุคปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง
http://www.panyathai.or.th/wiki/วันภาษาไทยแห่งชาติ
http://www.culture.go.th/cday/index.php?option=com_content&view=article&id=689:2011-03-28-15-16-30&catid=51:0704&Itemid=79 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม