ในหนึ่งปีมีวันอยู่มากมายถูกยกให้เป็นวันสำคัญระดับชาติ เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน และวันสำคัญส่วนใหญ่ที่เราจดจำได้นั้น มักจะเป็นวันหยุดราชการ หรือวันที่มีการจัดเทศกาลรื่นเริง วันสำคัญบางวันจึงกลายเป็นวันธรรมดาไปหากไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาเพื่อระลึกถึง
25 พฤศจิกายน 2468
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต วันที่ 25 พฤศจิกายน จึงถูกยกย่องเป็น “วันมหาธีรราชเจ้า” อันมาจากพระสมัญญานาม “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ที่พระองค์ได้รับการถวาย จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) เนื่องจากทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวัฒนธรรม
และสำหรับคนไทยแล้ว พระองค์ทรงเป็นยิ่งกว่าบุคคลสำคัญมากกว่าด้านวัฒนธรรม เพราะทรงมีพระปรีชาสามารถรอบด้าน อันนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยประเทศดังในปัจจุบัน
25 พฤศจิกายน 2556
วันบรรจบครบปีที่ 88 ที่ประเทศไทยสิ้นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงนำการเปลี่ยนแปลงอันดีมาสู่ปวงชนชาวไทย เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้จัดกิจกรรมเนื่องในวัน “มหาธีรราชเจ้า” โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และการแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 23 และวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park
สำหรับกิจกรรมในวันแรกนั้น ได้จัดให้มีการเรียนรู้พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจผ่านนิทรรศการ และพูดคุยกับสุดยอดแฟนพันธุ์แท้พระราชประวัติรัชกาลที่ 6 ปิดท้ายด้วยการขับเสภาบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 โดยนักร้องเสียงคุณภาพจากเวทีเดอะวอยซ์ (The Voice Thailand Season1) ซึ่งจัดขึ้นบริเวณลานสานฝัน และกิจกรรมสนุกอ่าน สนุกคิด กับกิจกรรม “เสื้อลูกเสือสุดเท่” จากพี่ๆ บรรณารักษ์ บริเวณห้องสมุดเด็ก

คุณกัน – ธนปกรณ์ สุขสำลี
สุดยอดแฟนพันธุ์แท้รัชกาลที่ 6: กันต์-ธนปกรณ์ สุขสำลี
3 สิงหาคม 2550 “ถูกต้องนะคร้าบบบบ” เสียงลากยาวของพิธีกร ยืนยันว่า “ธนปกรณ์ สุขสำลี” หรือ “กันต์” เป็นแฟนพันธุ์แท้ตัวจริง เรื่อง พระราชประวัติรัชกาลที่ 6-วันนี้คุณกันต์ได้มาเป็นแขกรับเชิญ กับกิจกรรม Inspired by Idol โดยได้เล่าบรรยากาศการเตรียมตัวและการแข่งขันรายการแฟนพันธุ์แท้ในครั้งนั้น ต่อด้วยการบรรยายพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้กับผู้ร่วมกิจกรรมได้รับฟัง
คุณกันต์เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่นำมาสู่การเป็นแฟนพันธุ์แท้พระราชประวัติรัชกาลที่ 6 เกิดจากความชอบอ่านวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ประกอบกับการเรียนสาขาภาษาไทย (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ทำให้ได้คลุกคลีกับเรื่องราวด้านนี้ จนเมื่อเรียนจบคุณกันต์ได้ทำงานสายหนังสือ เริ่มต้นจากหนังสือพิมพ์ก่อนย้ายมาทำงานที่สำนักพิมพ์สารคดี ในส่วนงานหนังสือ “นายรอบรู้” ซึ่งเป็นคู่มือท่องเที่ยว ทำให้เขาได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ มากมาย
ด้วยความหลงใหลในประวัติศาสตร์เป็นทุนเดิม เมื่อได้มาพบสถานที่จริง ทำให้ความรู้ที่เคยอ่านเชื่อมโยงกับความเป็นจริง จนเกิดเป็นความแม่นยำ ซึ่งต่อมาได้บรรจบกับจังหวะที่รายการแฟนพันธุ์จัดให้มีตอน “พระราชประวัติรัชกาลที่ 6” คุณกันต์จึงมีโอกาสแสดงความรู้อย่างลึกซึ้งให้คนทั้งประเทศได้เห็น
“ตอนนั้นผมตามหัวหน้าไป ในช่วงที่รายการกำลังจะค้นหาแฟนพันธุ์แท้รัชกาลที่ 5 แต่หัวหน้าติดงานสละสิทธิ์ไป จนรายการมีการแข่งเรื่องรัชกาลที่ 6 ทีมงานก็ได้โทร.มาชวนผมให้เข้าร่วมแข่งขัน เพราะครั้งที่ไปกับหัวหน้า ทีมงานเขาเห็นเราสนใจและมีความรู้เรื่องรัชกาลที่ 6 ผมก็เลยไปลองทดสอบดู”
คุณกันต์ผ่านการทดสอบจนได้เป็น 5 คนสุดท้าย และเป็นผู้ชนะเลิศ “แฟนพันธุ์แท้พระราชประวัติรัชกาลที่ 6” ด้วยการตอบคำถามตัดสินได้ว่า วันที่พระราชทานพระสมัญญานามพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าคือวันที่ 1 มกราคม 2468-คุณกันต์เล่าว่า ความภูมิใจและประทับใจที่ได้มาแข่งขันรายการแฟนพันธุ์แท้ คือการที่ได้ทำให้คนไทยได้รู้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณมากมายต่อประเทศไทย
“คำถามแต่ละข้อที่ถามมา จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถ และมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศเรามากมายแค่ไหน เพราะหากไม่มีพระองค์ ประเทศไทยอาจยังไม่ได้มาพัฒนาได้มากเท่านี้ หรืออาจจะเสียดินแดนบางส่วนให้กับชาติตะวันตกไป”
คุณกันต์ปิดท้ายเรื่องราวแฟนพันธุ์แท้ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

คุณปุ้ย – ดวงพร พงศ์ผาสุก
การขับเสภาบทพระราชนิพนธ์ : ปุ้ย – ดวงพร พงศ์ผาสุก
หากเป็นงานที่เกี่ยวกับเพลงไทยเดิม หลายคนคงนึกถึงสาวสวย เสียงหวาน จากรายการ The Voice Thailand Season1 “ดวงพร พงศ์ผาสุก” หรือ “ปุ้ย” ซึ่งในวันนี้เธอได้มาร่วมกิจกรรมด้วยการขับเสภาบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ พระราชนิพนธ์บทละครแปลเรื่อง “เวณิสวาณิช” และพระราชนิพนธ์ละครสังคีต เรื่อง “วิวาห์พระสมุทร”
อันว่าความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
เป็นสิ่งดีสองชั้นพลันปลื้มใจ แห่งผู้ให้และผู้รับสมถวิล
เป็นกำลังเลิศพลังอื่นทั้งสิ้น เจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระกรุณา
เวณิสวาณิช
ปากเป็นเอกเลขเป็นโทโบราณว่า หนังสือตรีมีปัญญาไม่เสียหลาย
ถึงรู้มากไม่มีปากลำบากตาย มีอุบายพูดไม่เป็นเห็นป่วยการ
ถึงเป็นครูรู้วิชาปัญญามาก ไม่รู้จักใช้ปากให้จัดจ้าน
เหมือนเต่าฝังนั่งซื่อฮื่อรำคาญ วิชาชาญมากเปล่าไม่เข้าที
ใครช่างพูดพลิกแพลงเหมือนแรงมาก คนนิยมลมปากมากเชียวพี่
ถึงรู้น้อยถ้อยคำให้ขำดี คงเป็นที่สมคะเนที่เฉโก
วิวาห์พระสมุทร
ความสามารถด้านการขับร้องเพลงไทยเดิมของคุณปุ้ยนั้น เกิดจากการฝึกฝนในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายและต่อเนื่องมาจนถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัย ที่ผ่านมาคุณปุ้ยมีผลงานด้านการขับร้องมากมาก เช่น ร้องคอรัสให้กับศิลปินต่างๆ ร้องเพลงประกอบละคร ประกอบภาพยนตร์ อาทิ ลูกทาส สี่แผ่นดิน องค์บาก2 ก้านกล้วย เมื่อดอกรักบาน แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอคือการประกวดร้องเพลงในรายการ The Voice Thailand Season1 เมื่อปีที่แล้ว
สำหรับความรู้สึกที่ได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ คุณปุ้ยเล่าว่า ทำให้เธอรู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปในช่วงมัธยมศึกษา ความรู้หลายอย่างที่ลืมไปกลับมาอีกครั้งเพราะในช่วงเวลานั้นเธอได้นำบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 มาร้องประกวดมากมาย
ที่ผ่านมา คุณปุ้ยได้มีโอกาสถวายงานเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยขับร้องเพลงที่พระราชวังพญาไท ซึ่งอดีตคือที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง พระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
“ร้องที่พระราชวังพญาไทบ่อยมาก คุณป้าที่วังบอกให้มาช่วยร้องเพลเพื่อทำนุบำรุงวัง ปุ้ยเองได้ไปกราบพระองค์ท่านแล้วอธิษฐานว่าถ้าชาติที่แล้วได้เคยรับใช้ทำอะไรที่พระราชวังแห่งนี้ ขอให้มีโอกาสได้รับใช้ท่านตลอดไป ปุ้ยเลยได้ทำงานเกี่ยวกับพระองค์ท่านบ่อยจริงๆ”
ในวันนี้นอกจากคุณปุ้ยจะมาขับเสภาแล้ว เธอยังได้ขับร้องเพลง “ลาวดวงเดือน” บทเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอ ให้กับผู้ร่วมงานได้ฟังเสียงหวานๆ ปิดท้ายกิจกรรมในวันนี้

ร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกหลังจบกิจกรรม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว: สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
นอกจากการพูดคุยกับแฟนพันธุ์แท้พระราชประวัติรัชกาลที่ 6 และการรับฟังการขับเสภาจากคุณปุ้ย ดวงพรแล้ว กิจกรรมหลักเพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า คือ นิทรรศการแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ผ่านนิทรรศการจัดแสดงบริเวณลานสานฝัน และการบรรยายจากคุณกันต์ ธนปกรณ์...
...พระบาทสมเด็จพระปรเมนมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เสวยราชสมบัติวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมพรรษา 45 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี ทรงมีพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี คือ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา ศิริโสภาพัณณวดี
พระราชกรณียกิจด้านอักษรศาสตร์และการประพันธ์
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 มีจำนวนมากกว่า 1,236 เรื่อง เช่น พระราชนิพนธ์ร้อยกรอง เรื่อง สยามมานุสสติ เนื่องในโอกาสที่ทรงส่งเล่าทหารไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 พระราชนิพนธ์บทละครแปลเรื่องเวณิสวาณิช (The Merchant of Venice) พระราชนิพนธ์โขนนางลอย พระราชนิพนธ์ละครรำเรื่องท้าวแสนปม พระราชนิพนธ์ละครร้องเรื่องศกุนตลา พระราชนิพนธ์บทละครพูดร้อยแก้วเรื่องหัวใจนักรบ พระราชนิพนธ์บทละครพูดคำฉันท์เรื่องมัทนะพาธา หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ เป็นต้น
พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา
ทรงริเริ่มการสร้างโรงเรียนขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล ทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันขึ้นแทน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี เข้าเรียนในระดับประถมศึกษา
พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข
ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สถานเสาวภา และพัฒนาการประปา ทรงเปิดการประปากรุงเทพฯ จัดตั้งกรมรถไฟหลวงในปี พ.ศ. 2460 และเริ่มเปิดการเดินรถไฟสายกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ สายใต้จากธนบุรีเชื่อมกับปีนังและสิงคโปร์
พระราชกรณียกิจด้านเศรษฐกิจ
ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคลังออมสินขึ้นเพื่อความมั่นคง ในด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจุบันคือธนาคารออมสิน (ธนาคารรัฐแห่งแรก) ให้กำเนิดสหกรณ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งสหกรณ์แห่งแรก คือ สหกรณ์วัดจันทร์ จังหวัดพิษณุโลก
พระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง
ทรงปลูกฝังประชาธิปไตยให้กับประชาชนโดยได้ทรงสร้าง “ดุสิตธานี” เป็นที่ทดลองการปกครองแบบประชาธิปไตย จัดตั้งกองเสือป่า กองอนุกาชาด (ยุวกาชาด) และเนตรนารี โดยจัดให้มีการฝึกหัดแบบทหาร
พระราชกรณียกิจด้านขนบธรรมเนียมประเพณี
ทรงริเริ่มการใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) แทนการใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) ทรงเปลี่ยนวิธีนับเวลาแบบโมงยามมานับแบบสากลนิยมทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้นามสกุล โดยนามสกุลแรกที่ทรงพระราชทาน คือ “สุขุม” รวมถึงตราพระราชบัญญัติคำนำหน้านามอย่างอารยประเทศ คือ เด็กชาย เด็กหญิง นาย นาง นางสาว นำหน้าชื่อนอกจากนี้ยังทรงนำประเทศสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นโดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างธงชาติไทยใหม่ แทนธงชาติช้างเผือก ที่เรียกว่า ธงไตรรงค์เปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม (Siam) เป็นประเทศไทย (Thailand) เริ่มใช้เพลงชาติไทย โดยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง และพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง รวมทั้งเปลี่ยนการแต่งกายสตรี ให้ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น นุ่งผ้าถุง แทนการโจงกระเบน

หนังสือแนะนำเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6
พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ยังมีอีกมากมาย ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาอ่านที่อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) อาทิเรื่อง “เกร็ดพงศาวดาร รัชกาลที่ 6” ที่รวบรวมความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 6 “เรื่องเก่าเล่าถึงวัง (ในหลวง ร.6)” เรื่องราวของพระราชวังเก่ากับในหลวงรัชกาลที่ 6 “พระมงกุฎเกล้าฯ และเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ” หนังสือที่รวบรวมพระราชประวัติของรัชกาลที่ 6 และเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระองค์ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าของชนชาวไทย
พี่ตองก้า